google-site-verification=se7lEDMNecWhftHMM3JqyxsSZmGSChR8b2p4pNuJx7c คลินิกจัดฟัน ภูเก็ต orthodontic phuket town

RHD Office: +66 76-234-024

ทันตกรรมจัดฟัน

ปัจจุบันการจัดฟัน ได้รับความนิยมมากในกลุ่มวัยรุ่น เพื่อปรับแก้ไขความผิดปกติในการเรียงตัวของฟัน และโครงสร้างใบหน้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจัดฟันสามารถทำได้ในทุกวัยไม่จำกัดอายุ ซึ่งสิ่งสำคัญ จะต้องศึกษาข้อมูล และเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการจัดฟัน โดยขอคำปรึกษา และร่วมวางแผนการรักษากับทันตแพทย์เฉพาะทางทางด้านทันตกรรมจัดฟัน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการรักษา

  • เพื่อความสวยงามในการเรียงตัวของฟัน
  • เพื่อความสวยงามของโครงสร้างใบหน้า
  • เพื่อการบดเคี้ยวอาหารที่มีประสิทธิภาพ
  • เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคฟันผุหรือโรคเหงือก อันเนื่องมาจากความลำบากในการทำความสะอาดฟันและเหงือก ในบริเวณที่ฟันเรียงตัวผิดปกติ
  • เพื่อแก้ปัญหาการออกเสียงที่ไม่ชัดเจนจากช่องว่างของฟันหน้า
  • เพื่อช่วยเตรียมตำแหน่งฟันให้เหมาะสมก่อนใส่ฟันเทียม
  • เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดรอยสึกของฟันจากการสบฟันที่ไม่เหมาะสม

  • ควรขอคำปรึกษาจากทันตแพทย์เฉพาะทาง ทางด้านจัดฟัน
  • ทันตแพทย์จัดฟัน ตรวจลักษณะการสบฟัน
  • ถ่ายเอ็กซ์เรย์ฟันทั้งปากและโครงสร้างใบหน้าด้านข้าง
  • พิมพ์ปากเพื่อทำแบบจำลองฟัน
  • วางแผนการรักษาร่วมกับทันตแพทย์จัดฟัน
  • ทันตแพทย์ทั่วไปตรวจสุขภาพช่องปาก ซึ่งสุขภาพฟันและเหงือก จะต้องแข็งแรงก่อนได้รับการจัดฟัน
*** ตรวจสอบรายชื่อทันตแพทย์จัดฟันที่ได้รับการรับรองจากสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทยได้ที่ www.thaiortho.org

ผู้ใหญ่สามารถจัดฟันได้โดยไม่จำกัดอายุ แต่อัตราการเคลื่อนฟันของผู้ใหญ่จะช้ากว่าเด็ก และมีโอกาสเกิดเหงือกร่นขึ้นได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของกระดูกที่รองรับฟัน และการดูแลสุขภาพช่องปากในขณะจัดฟันร่วมด้วย

สำหรับเด็ก ควรได้รับการตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติที่อาจจะรุนแรงขึ้น ก็อาจจะเริ่มจัดฟันได้ตั้งแต่อายุ 8 ปี เพื่อการรักษาเฉพาะส่วน และจัดฟันทั้งปากอีกครั้ง เมื่อฟันน้ำนมซี่สุดท้ายหลุด ประมาณอายุ 10-12 ปี แต่หากไม่พบความผิดปกติของกระดูกขากรรไกร ก็จะรอให้ฟันน้ำนมซี่สุดท้ายหลุด จึงเริ่มต้นจัดฟันทั้งปาก

การเลือกชนิดของเครื่องมือจัดฟันขึ้นอยู่กับลักษณะความผิดปกติของกระดูกขากรรไกร, การสบฟันและการเรียงตัวของฟัน โดยจำแนกได้ดังนี้

เครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้

1. เครื่องมือที่มีส่วนให้แรงต่อการเคลื่อนฟัน
  • Active Plate : มีลวดสปริงหรือสกรู เป็นตัวส่งแรงเคลื่อนฟัน

  • Invisallign : ใช้พลาสติกเป็นตัวดันฟัน


2. เครื่องมือที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงหรือบังคับทิศทางการเจริญเติบโตของขากรรไกร : Myofuctional Appliance


3. เครื่องมือที่ใช้คงสภาพฟันหลังการจัดฟัน ซึ่งจะไม่มีแรงกระทำต่อฟัน : Retainer


เครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่น

1. Metal Bracket


2. Self Ligate Brcket


3. Resin Bracket


4. Crystal Bracket


นอกจากนี้บางกรณี อาจพิจารณาใช้ Mini-Implant (หมุดจัดฟัน) เป็นอุปกรณ์เสริม เพื่อช่วยเป็นหลักยึดในการเคลื่อนฟัน ในกรณีที่ต้องเคลื่อนฟันเป็นระยะไกลๆ ซึ่งฟันหลักอาจจะทำหน้าที่เป็นหลักยึดได้ไม่เพียงพอ

Bracket และ Tube เป็นอุปกรณ์ที่ติดอยู่บนผิวหน้าของฟัน มีร่องไว้ยึดเกาะกับเส้นลวด และมียางทำหน้าที่เป็นโซ่ดึงฟัน ทำให้ Bracket เคลื่อนไปตามแนวลวดที่ดัดไว้ ฟันจึงเกิดการเคลื่อนที่ตาม



เมื่อฟันเคลื่อน ก็จะเกิดแรงกดลงไปที่กระดูก โดยในระยะแรก มักมีอาการปวดหรือเสียวฟันบ้าง จากการที่หลอดเลือดบริเวณนั้นถูกแรงกดด้วยเช่นกัน แต่หลังจากนั้น 4 -5 วัน อาการก็จะทุเลาลง แรงกดที่กระดูกหุ้มรากฟันจะส่งผลให้กระดูกบริเวณนั้นเกิดการละลายตัว ฟันจึงเคลื่อนที่ไปตามทิศทางนั้น ส่วนด้านตรงข้ามจะเกิดการสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาทดแทนอย่างช้าๆ ในระหว่างขั้นตอนเหล่านี้ ฟันอาจจะโยกบ้างเล็กน้อย ซึ่งจัดว่าเป็นอาการที่ปกติ ในช่วงการจัดฟัน



Tips: การเคี้ยวอาหารที่ไม่แข็งหรือเหนียวเกินไปในช่วง 1 วันหลังปรับเครื่องมือ จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ เนื่องจากแรงจากการบดเคี้ยวเบาๆ บ่อยๆ จะเป็นการขยับฟันบริเวณที่มีแรงกด และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้นได้ดีขึ้น

ระยะเวลาในการจัดฟัน ขึ้นอยู่กับสภาพความผิดปกติของการสบฟันในแต่ละบุคคล แต่โดยทั่วไป การจัดฟันชนิดติดแน่น ใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี โดยควรพบทันตแพทย์ทุก 4-6 สัปดาห์ เพื่อปรับเครื่องมือในการเคลื่อนฟันอย่างต่อเนื่อง

นอกเหนือจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อระยะเวลาในการจัดฟัน เช่น

  • การที่กล้ามเนื้อมีแรงต้านต่อการเคลื่อนฟัน ได้แก่ การนอนกัดฟัน, ภาวะลิ้นโต และลิ้นดันฟันในขณะพูดหรือกลืนน้ำลาย
  • อัตราการเจริญเติบโตของขากรรไกร
  • ความร่วมมือในการไปพบทันตแพทย์ตามนัด
  • ความร่วมมือในการใส่ยางดึงฟันหรือเครื่องมือเสริมอื่นๆ
  • การดูแลเครื่องมือจัดฟัน และการดูแลสุขภาพในช่องปาก

การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร จะเลือกทำในกรณีที่มีการสบฟันผิดปกติร่วมกับมีความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรมาก เช่น

  • ฟันหน้าบนยื่นมาก

  • คางเล็ก

  • คางยื่น

  • ยิ้มเห็นเหงือกมาก

กรณีนี้จำเป็นต้องได้รับการวางแผนการรักษาร่วมกับทันตแพทย์เฉพาะทาง 2 สาขา คือ ทันตแพทย์ทางด้านจัดฟัน กับทันตแพทย์ทางด้านศัลยกรรมช่องปากและแมกซิลโลเฟเซียล(Oral and Maxillofacial Surgeon)

การรักษาจะประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. การจัดฟันก่อนการผ่าตัด ( Presurgical Orthodontics ) เพื่อเคลื่อนฟันในแต่ละขากรรไกร ให้มีการเรียงตัวอยู่ในสภาพที่ดี สัมพันธ์กับกระดูกขากรรไกรนั้นๆ แต่การสบฟันบนและล่าง อาจจะยังไม่สัมพันธ์กัน โดยใช้เวลาในขั้นตอนนี้ประมาณ 1-2 ปี


2. การผ่าตัดขากรรไกร (Orthognathic Surgery) จะทำการผ่าตัดและพักฟื้นในโรงพยาบาล ประมาณ 1-4 วัน และใช้เวลาในการพักฟื้นต่อที่บ้านอีก 2-4 สัปดาห์


3. การจัดฟันหลังการผ่าตัด (Postsurgical Orthodontics) เพื่อเคลื่อนฟันให้มีการสบฟันอย่างสมบูรณ์ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

  • ควรหลีกเลี่ยงการกัดเคี้ยวอาหารแข็ง และเหนียว เช่น น้ำแข็ง, กระดูกอ่อน, ถั่วแข็งๆ, หมากฝรั่ง ฯลฯ เพราะมีโอกาสที่จะทำให้เครื่องมือจัดฟันหลุดออกได้ ซึ่งอาจจะมีผลทำให้การรักษายุ่งยากขึ้น
  • ควรทำความสะอาดฟันหลังอาหารทุกมื้อ โดยใช้แปรงสีฟัน ไหมขัดฟัน และแปรงชอกฟันร่วมด้วยเสมอ
  • การจัดฟันให้ได้ผลการรักษาที่ดี ควรได้รับการวางแผนการรักษาร่วมกัน ทั้งผู้รับการรักษา, ผู้ปกครอง และทันตแพทย์จัดฟัน รวมทั้งการให้ความร่วมมือ ในการพบทันตแพทย์จัดฟันตามเวลาที่นัดหมายอย่างสม่ำเสมอ