google-site-verification=se7lEDMNecWhftHMM3JqyxsSZmGSChR8b2p4pNuJx7c Dentist Team at Rang hill dental clinic phuket

RHD Office: +66 76-234-024

ปริทันต์วิทยา

ปริทันต์วิทยา เป็นศาสตร์ทางด้านทันตกรรมที่เกี่ยวกับ การรักษาโรคเหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์อักเสบ
เนื้อเยื่อปริทันต์เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มและยึดรากฟัน ประกอบด้วย เหงือก, กระดูกเบ้าฟันและเอ็นยึดปริทันต์

เหงือกเป็นอวัยวะที่ห่อหุ้มและป้องกันอันตรายให้กระดูกและฟัน โดยมีเอ็นยึดปริทันต์ทำหน้าที่ยึดรากฟันไว้กับกระดูก

ขอบเหงือกที่บริเวณคอฟัน มีลักษณะบาง ผิวเรียบ เป็นสีชมพูซีด ไม่มีเอ็นยึดเชื่อมกับผิวฟันแต่มีร่องระหว่างเหงือกกับฟันลึกประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เหงือกบริเวณนี้เรียกว่า Free Gingiva


ส่วนเหงือกที่ต่ำลงมาจากบริเวณคอฟันประมาณ 3 มิลลิเมตร จะยึดกับกระดูกเบ้าฟัน (Bone) ซึ่งเรียกว่า Attached Gingiva มีลักษณะขรุขระเล็กน้อย และมีความแข็งแรงกว่า Free Gingiva

กระดูกเบ้าฟัน เป็นส่วนที่ห่อหุ้มรากฟันโดยมีเอ็นยึดปริทันต์(Periodontal Fiber) ทำหน้าที่ยึดฟันไว้กับกระดูก

โรคเหงือกอักเสบ เกิดจากการดูแลสุขภาพช่องปากได้ไม่ทั่วถึง มีการตกค้างของแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่บริเวณคอฟันและ ขอบเหงือกมากกว่า1สัปดาห์ มีการลุกลามของเชื้อจุลินทรีย์ลงไปในบริเวณใต้เหงือก และเกิดการตกตะกอนของคาร์บอเนตในน้ำลายลงบนแผ่นคราบจุลินทรีย์ ทำให้ก่อตัวเป็นก้อนหินปูน ในระยะนี้สภาพเหงือกจะบวมแดง มีเลือดออกตามไรฟัน และเริ่มมีกลิ่นปาก

หากละเลยการดูแลสุขภาพช่องปากเป็นเวลานาน ไม่ได้รับการรักษา ทำให้เกิดการสะสมแผ่นคราบจุลินทรีย์และหินปูนมากขึ้นเรื่อยๆ เชื้อจุลินทรีย์ที่มากขึ้น จะปล่อยสารพิษ ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ เหงือกอักเสบ บวมแดงมากขึ้น กระดูกเบ้าฟันและเอ็นยึดปริทันต์ถูกทำลาย เกิดร่องลึกปริทันต์ซึ่งเปรียบเสมือนกระเป๋าเก็บเชื้อจุลินทรีย์


เมื่อเชื้อจุลินทรีย์เจริญเติบโตมากขึ้นในร่องเหงือกลึกๆ ก็จะก่อให้เกิดหนอง มีกลิ่นปากรุนแรงขึ้น,ฟันโยก,ปวดเวลาเคี้ยว ซึ่งหากมีอาการรุนแรงมาก อาจต้องถอนฟันทิ้งไปในที่สุด

การรักษาโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์อักเสบ จะประสบความสำเร็จในการรักษาได้นั้นขึ้นอยู่กับขั้นตอนการรักษาของทันตแพทย์ และความร่วมมือในการดูแลความสะอาดในช่องปากของผู้รับการรักษา เนื่องจากสาเหตุของการเกิดโรคนี้ ปัจจัยหลักมาจากแผ่นคราบจุลินทรีย์และหินปูน

ขั้นตอนการรักษาของทันตแพทย์

  • กำจัดหินปูนด้วยเครื่อง Ultrasonic Cleanser ขั้นตอนนี้เรียกว่า การขูดหินปูน
  • ในกรณีที่มีหินปูนลึกลงในร่องเหงือกเกินกว่า 3mm. ทันตแพทย์จะกำจัดหินปูนด้วยเครื่องมือเกลารากฟัน เพื่อทำให้ผิวรากฟันเรียบและสะอาด ขั้นตอนนี้เรียกว่า การเกลารากฟัน
  • ในกรณีที่หินปูนอยู่ในตำแหน่งลึกเกินกว่าเครื่องมือจะเข้าไปทำความสะอาดได้ เช่น บริเวณรอยแยกระหว่างรากฟัน กรณีนี้จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดซึ่งเรียกว่า ศัลย์ปริทันต์
  • ในกรณีที่มีการลุกลามของรอยโรคมาก มีการทำลายเหงือกหรือกระดูกค่อนข้างมาก อาจจะพิจารณาปลูกเหงือกหรือปลูกกระดูกร่วมด้วย

นอกเหนือจากขั้นตอนการรักษาของทันตแพทย์แล้ว การดูแลความสะอาดในช่องปากของผู้รับการรักษาก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากต่อความสำเร็จในการรักษา เพราะทุกครั้งที่รับประทานอาหาร จะมีการก่อตัวของแผ่นคราบจุลินทรีย์ขึ้นทันที หากไม่สามารถทำความสะอาดในช่องปากได้อย่างทั่วถึง เชื้อจุลินทรีย์จะผลิตเอนไซน์ทำลายเนื้อเยื่อเหงือกและเนื้อเยื่อปริทันต์อย่างสม่ำเสมอเช่นกัน